ต้นตีนเป็ด หรือ พญาสัตบรรณ หนึ่งในต้นไม้ที่อยู่คู่กับชาวไทยมาช้านาน โดยเชื่อว่าต้นไม้ชนิดนี้นั้นเป็นต้นไม้สำหรับนักปราชญ์และผู้มีสติปัญญาทั้งหลาย จึงเริ่มนอยมปลูกตามอาคารและในสถานที่ราชการต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันจะสามารถพบเห็นต้นไม้ชนิดนี้ได้ทั่วไปตามท้องถนนหรือสวนสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งก็ชอบในความสวยงามและความสูงชะลูดของต้น แต่กับคนอีกกลุ่มหนึ่งนั้นกลับไม่ชอบต้นไม้ชนิดนี้เนื่องจากกลิ่นของมันที่ส่งออกมานั้นเป็นพิษและไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนหมู่มากเสียเท่าไหร่ วันนี้บทความที่เราจะนำมาเสนอก็จะเกี่ยวกับประวัติพญาสัตบรรณหรือต้นตีนเป็นที่ทุกท่านรู้จักกันนั่นเองค่ะ
กว่าจะมาเป็นต้น พญาสัตบรรณ ให้เราได้พบเห็นนั้นมีที่มาอย่างไรบ้าง
ต้นพญาสัตบรรณ มีชื่อเรียกที่หลากหลายชื่อมากค่ะ ไม่ว่าจะเป็น ต้นตีนเป็ด , ต้นตีนเป็ดไทย , ต้นตีนเป็ดเขียว , หรือต้นสักตะบัน ซึ่งการเรียกชื่อนั้นก็จะขึ้นอยู่กับภูมิภาคที่ได้อาศัย ซึ่งก็จะมีการขานชื่อที่แตกต่างกันไป โดยต้นไม้ชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ด้วยความสูง 10-20 เมตร ลำต้นตั้งตรง บริเวณลำต้นจะเป็นสีน้ำตาลและมีสะเก็กขาว ๆ กระจายอยู่เต็มต้น หากลองใช้มีดกรีดดูจะพบว่ามียางอยู่ โดยการแตกกิ่งนั้นจะแตกออกเป็นชั้น ๆ มักออกใบบริเวณปลายกิ่ง ดอกสีขาวอมเหลืองมีกลิ่นฉุนออกดอกในช่วงฤดูหนาว
ความเป็นมาของพญาสัตบรรณนั้นได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2537 โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทำการพระราชทานต้นตีนเป็ดหรือต้นพญาสัตบรรณ ในวันรณรงค์โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ ปีที่ 50 ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ทั้งนี้เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ชาวจังหวัดสมุทรสาคร จึงทำให้ผู้ว่าเริ่มการปลูกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้ต้นตีนเป็ดนี้กลายเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทีสาครในที่สุด
ซึ่งในปัจจุบันกรุงเทพของเรานั้นก็สามารถหาดูต้นตีนเป็ดได้ที่บริเวณเขตพญาไท เพราะต้นไม้ชนิดนี้เป็นต้นไม้ประจำเขตพญาไท ซึ่งก็จะอยู่ตรงบริเวณสะพานลอยทางเชื่อมกับรถไฟฟ้า และอีกหนึ่งที่ที่มีการปลูกต้นไม้ชนิดนี้อย่างแพร่หลายเลยนั่นก็คือ สวนนวมินทร์ภิรมย์ เขตบึงกุ่มของกรุงเทพค่ะ ซึ่งหากใครที่เคยไปแล้วก็จะเห็นได้ว่าตามข้างทางนั้นจะมีต้นไม้ชนิดนี้ขึ้นอยู่เต็มไปหมด ยิ่งถ้าใครได้ไปวิ่งที่นี่ช่วงเย็นในฤดูหนาวแล้วล่ะก็ควรเตรียมหน้ากากอนามัยไปด้วยค่ะ เพราะกลิ่นของพญาสัตบรรณค่อนข้างแรงมาก ๆ
เมื่อพูดถึงกลิ่นของต้นตีนเป็นหรือพญาสัตบรรณแล้ว เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงจะรับรู้ได้ทันทีว่ามีกลิ่นอย่างไร เนื่องจากกลิ่นของต้นไม้ชนิดนี้นั้นมีความฉุนและเป็นพิษ ซึ่งหากสูดดมมากเกินไป หรือสูดดมเป็นเวลานาน ๆ นั้น จะทำให้เริ่มเกิดอาการเวียนหัวจนถึงขั้นอาเจียนได้ หรืออาจมีน้ำมูกน้ำตาไหลซึ่งก็จะมีอาการคล้ายคนที่เป็นภูมิแพ้นั่นเองค่ะ แต่สำหรับคนที่ไม่แพ้นั้นก็จะเป็นปกติทุกอย่าง เพียงแต่คนส่วนใหญ่ไม่ชื่นชอบในกลิ่นของมันเท่านั้น แต่โดยรวมแล้วพญาสัตบรรณก็เป็นต้นไม้ที่สวยงามชนิดหนึ่งที่น่าจับตามองเลยล่ะค่ะ
นอกจากเรื่องของกลิ่นที่เป็นปัญแล้ว ก็ยังมีเรื่องดี ๆ ในเรื่องของความเชื่อของต้นไม้ที่เป็นมงคลอยู่บ้างค่ะ โดยเชื่อว่าต้นตีนเป็ดนี้เป็นต้นไม้ที่เป็นตัวแทนของผู้ที่เป็นนักปราชญ์มีปัญญาเฉลียวฉลาด โดยหากปลูกต้นไม้ชนิดนี้เอาไว้จะช่วยส่งเสริมด้านชื่อเสียงและเกียรติยศได้ดี ซึ่งก็เปรียบเสมือนกลิ่นของต้นไม้ที่ล่องลอยไปไกล และทุกคนได้กลิ่นของมันนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามเรื่องของกลิ่นนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ทำให้ความนิยมในการปลูกต้นตีนเป็ดในบ้านลดลงได้อย่างมาก จนใครหลาย ๆ คนเรียกชื่อของต้นไม้ชนิดนี้ว่า “ต้นไม้ปีศาจ” ไปเลย
ซึ่งชื่อนี้ก็ไม่ได้มากันเล่น ๆ ค่ะ เพราะถึงแม้ต้นไม้ชนิดนี้จะเป็นต้นไม้มงคลที่มีความหมายดีก็ตาม แต่เรื่องกลิ่นที่ส่งออกมาทำให้ฉุนจนแทบจะอาเจียนนั้น ก็เป็นผลร้ายที่ตามมาได้อย่างน่าเหลือเชื่อ จึงทำให้ชื่อนี้ถือกำเนิดขึ้นมา โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว หากเราไม่ได้ดูว่าเดือนนี้เดือนอะไร เข้าฤดูหนาวแล้วหรือยัง คนส่วนใหญ่ก็จะใช้การสังเกตด้วยการดมกลิ่นของดอกต้นตีนเป็ดนี้เอา เพราะเมื่อใดที่ได้กลิ่นของดอกแสดงว่าหน้าหนาวได้เข้ามาเยือนแล้วถึงแม้อากาศจะไม่ได้หนาวก็ตามที
และไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทยนะคะที่มักจะได้กลิ่นของต้นไม้ชนิดนี้ในช่วงฤดูหนาว เพราะก็ยังมีอีกหลายประเทศที่เขาก็จะต้องได้กลิ่นแบบนี้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย , บังกลาเทศ , ศรีลังกา ซึ่งหากจะกล่าวโดยรวมก็คือประเทศในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นแหละค่ะ แต่ในความโชคร้ายก็มีความโชคดีอยู่เพราะต้นไม้ชนิดนี้มีสรรพคุณทางยาอย่างมากมาย ทั้งช่วยให้เจริญอาหาร บรรเทาอาการเบาหวานในคนที่เป็นโรคเบาหวาน อีกทั้งยังเป็นยาแก้บิดได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามต้นพญาสัตบรรณก็ถือเป็นต้นไม้ที่เรารู้จักกันทุกคน ซึ่งหากไม่มีต้นไม้ชนิดนี้อยู่เราก็อาจไม่รู้ได้ว่าเข้าสู่ฤดูหนาวแล้วหรือไม่ อีกทั้งยังมีความเป็นมงคลแก่ผู้ปลูกอีกด้วยค่ะ ดังนั้นหากใครที่อยากปลูกพญาสัตบรรณ หรือต้นตีนเป็ดนี้ก็สามารถปลูกได้อย่างแน่นอนค่ะ
Credit : https://www.sanook.com/
อ่านบทความ ทำความรู้จัก ต้นคูน หรือ ต้นราชพฤกษ์ มีสรรพคุณอย่างไร